ข้อเท้าพลิก อุบัติเหตุที่ไม่ควรมองข้าม

1364
ข้อเท้าพลิก อุบัติเหตุที่ไม่ควรมองข้าม

ข้อเท้าพลิกเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุที่อาจพูดได้ว่า ใครๆ ก็คงเคยเป็น เพราะหากเราไม่ระมัดระวังตัว อาการบาดเจ็บเช่นนี้ก็สามารถเกิดได้ทุกเมื่อ แต่รู้หรือไม่ว่า บางครั้งอาการดังกล่าวก็อาจไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆ อย่างที่ใครหลายคนคิด สาเหตุของการเกิดข้อเท้าพลิกนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ จากกิจวัตรประจำวันทั่วไป สำหรับผู้หญิง โดยมากมักเกิดจากใส่รองเท้าส้นสูงหรือรองเท้าส้นแคบแล้วเดินพลาด การสะดุดพลิกผิดท่าหรือบนพื้นที่ขรุขระ พื้นต่างระดับ ส่วนผู้ชายมักจะเกิดจากการเล่นกีฬา เช่น วิ่ง ฟุตบอล หรือบาสเกตบอล เป็นต้น ทำให้เกิดการอักเสบฉีกขาดของเส้นเอ็นข้อเท้า และเกิดอาการปวดบวมฟกช้ำ ปัญหาที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งคืออาการที่เราคิดว่าแค่ข้อเท้าพลิก เดี๋ยวก็หาย แต่ทำไมกลับรู้สึกเจ็บลึก เจ็บนาน บางครั้งเกิดข้อเท้าบวมเรื้อรัง หรือกระดูกจะหักหรือเส้นเอ็นฉีกขาด แล้วเราจะสามารถแยกแยะอาการเหล่านี้ได้อย่างไรว่าระดับไหนที่ควรต้องไปพบแพทย์

อาการแบบไหนที่เรียกว่าเริ่มไม่ปกติ และควรปรึกษาแพทย์

หากผู้ป่วยเกิดข้อเท้าพลิก หรือมีอาการเจ็บข้อเท้าโดยที่ไม่ได้เกิดจากสาเหตุรุนแรง อาการปวดควรจะค่อยๆ บรรเทาลงภายในเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่หากมีอาการเหล่านี้ แนะนำว่าผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

1.ปวดมาก ไม่สามารถลงน้ำหนักเท้าข้างที่บาดเจ็บได้

2.ข้อเท้าบวมมากทันทีหลังจากพลิก

3.อาการปวด บวม อักเสบ ไม่ทุเลาลงนานกว่า 2 สัปดาห์

ทั้งนี้ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมจึงแนะนำให้มาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อที่จะทำการตรวจร่างกายวินิจฉัย ตรวจเอกซเรย์ หรือ MRI เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอาการเรื้อรัง จนอาจลุกลามถึงขั้นที่เกิดภาวะข้อเท้าไม่มั่นคงหรือภาวะข้อเท้าเสื่อมในอนาคตได้

การดูแลรักษาข้อเท้าพลิกด้วยตัวเองเบื้องต้น

ในกรณีที่ข้อเท้าพลิกไม่ได้รุนแรงมาก เรามีวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ด้วยวิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.พักการใช้งานข้อเท้า เดินเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการเดินในระยะทางไกล 

2.ประคบเย็นในบริเวณที่บาดเจ็บเพื่อให้เส้นเลือดหดตัว ช่วยลดอาการบวมช้ำ โดยประคบครั้งละ 20 นาที ถ้าพอมีเวลาให้ทำซ้ำ 2-3 ครั้งต่อวัน เพื่อให้อาการปวดบวมลดลงได้เร็วขึ้น

3.ยกข้อเท้าให้สูงขึ้นขณะนั่งหรือนอน ช่วยลดอาการบวม 

4.ใช้ผ้าพันแผลแบบยืดพันข้อเท้า วิธีนี้ทำเพื่อประคองข้อเท้าไว้ไม่ให้ขยับใช้งานมากเกินไป แต่ต้องระวังว่าอย่าพันแน่นจนเกินไป เพราะอาจทำให้เท้าชาหรือทำให้ปลายเท้าขาดเลือดได้

5.การรับประทานยาลดการอักเสบเพื่อลดอาการปวดบวม 

6.ติดตั้งราวมือจับไว้ ใช้ขณะที่เดินภายในบ้าน สำหรับช่วยในการประคองตัว

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยได้ทำการดูแลตัวเองในเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์

ข้อควรปฏิบัติหากไม่อยากประสบเหตุข้อเท้าพลิกหรืออาการบาดเจ็บข้อเท้า

1.เลือกใส่รองเท้าที่ถูกสุขลักษณะ เหมาะกับขนาดและรูปเท้าของตัวเอง มีหน้าเท้ากว้าง ไม่บีบหน้าเท้า พื้นรองเท้านุ่ม ส้นรองเท้ากว้างและไม่สูงเกินไป เช่น รองเท้าออกกำลังกายหรือรองเท้ากีฬา

2.บริหารเส้นเอ็นด้านข้างข้อเท้า เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของข้อเท้าด้านข้าง ลดโอกาสในการเกิดข้อเท้าพลิก

3.ผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ ควรจะต้องทำการยืดเหยียดเส้นเอ็นก่อนและหลังจากการออกกำลังกาย มีการวอร์มอัพและคูลดาวน์เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการใช้งาน และลดโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บ

4.สำหรับคนที่เคยมีประวัติข้อเท้าพลิกมาแล้ว อาจเลือกใช้วิธีใส่สนับข้อเท้าเพื่อช่วยประคองเอาไว้ขณะทำกิจกรรมก็เป็นการลดความเสี่ยงได้อีกทางหนึ่ง

ขอบคุณบทความดีๆจากเพจ ข้อดีมีสุข

แชร์บทความนี้