ภัยเงียบของโรคกระดูกพรุน

980
ภัยเงียบของโรคกระดูกพรุน

วิธีดูแลกระดูก ป้องกันกระดูกพรุน ภัยเงียบที่ไม่มีอาการใดๆ ให้ระวัง จะรู้ก็ต่อเมื่อกระดูกหักแล้วหรือบางรายกระดูกสันหลังทรุด จะส่งผลให้มีอาการต่างๆตามมา เช่นทำให้ปวดหลัง การเคลื่อนไหวได้ลดลง ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนบางรายอาจมีภาวะอาการฟันหลุดได้ง่ายอีกด้วย โดยโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) และโรคกระดูกบาง (Osteopenia) เป็นภาวะที่มีปริมาณแร่ธาตุที่สำคัญคือแคลเซียมในกระดูกลดลง ร่วมกับความเสื่อมของเนื้อเยื่อที่ประกอบเป็นโครงสร้างภายในกระดูก ทำให้เนื้อหรือมวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลง จึงเปราะและแตกหักได้ง่าย โดยบริเวณที่พบการหักของกระดูกได้บ่อย คือ ข้อมือ สะโพก และสันหลัง

วิธีการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก วิธีที่ดีที่สุดคือ การเร่งสร้างและสะสมมวลกระดูกให้แข็งแรงหนาแน่นอยู่เสมอ โดยมีวิธีดังต่อไปนี้ 

1.การเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และสารอาหารที่ให้แคลเซียมสูงและวิตามินดีสูง 

อย่างเช่น นม ผักใบเขียว ปลากรอบ หรือปลาเล็กปลาน้อยที่ทานได้ทั้งเนื้อและกระดูก เป็นต้น โดยเฉพาะ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีกระดูกหัก ร่างกายจะต้องการแคลเซียมมากกว่าคนปกติเพื่อเพิ่มมวลกระดูก

2.ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

อาทิ ว่ายน้ำ เดินเร็ว วิ่งเบาๆ (จ๊อกกิ้ง) เพื่อสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายและกระดูก ควรออกกำลังกายกลางแจ้งบ้าง เพื่อรับแสงแดด และควรออกกำลังกายที่ต้องมีกระแทกบ้าง เช่น มีการวิ่ง การกระโดดในเด็กหรือวัยรุ่น เพื่อกระตุ้นให้กระดูกมีการสะสมแคลเซียมมากขึ้น

3.งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่

เพราะอาจทำให้ร่างกายฟื้นฟูอาการช้าลง หรืออาจทำให้ไปกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น จากการดื่มแอลกฮอล์ หรือการสูบบุหรี่ที่มีสารเคมีต่างๆ

4.ควรรับแสงแดดอ่อนๆ โดยเฉพาะในช่วงเช้า หรือเย็น

เพื่อให้ร่างกายได้รับการกระตุ้นสร้างวิตามินดีที่มีคุณภาพ (Active form) เพื่อดึงแคลเซียมไปใช้ในการสร้างมวลกระดูก ช่วงเวลาที่ดีในการรับแสงแดดคือ 6 โมงเช้า ถึง 8 โมงเช้า ซึ่งแดดในช่วงเวลานี้จะไม่แรงมากนัก

5.หมั่นดูแลสุขภาพจิตให้สดใสแข็งแรงควบคู่กับสุขภาพกาย ด้วยการออกกำลังกาย 

เคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อให้ร่างกายมีความแข็งแรง ทั้งนี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ด้วย ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่วิตกกังวล หรือเครียดไปกับโรคภัยไข้เจ็บ

6.ติดตั้งอุปกรณ์เสริม

เพื่อช่วยผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ในบางรายที่มีอาการรุนแรง อาจต้องมีผู้ช่วยในการเดิน หรือลุกนั่ง ดังนั้นการติดตั้งอุปกรณ์เสริม เช่น ราวมือจับบริเวณทางเดิน หรือราวมือจับกันลื่นภายในห้องน้ำ จะเป็นตัวช่วยเสริมอีกอย่างหนึ่ง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมีความปลอดภัยขึ้น ก้าวเดินได้สะดวกมากขึ้น

ในส่วนวิธีการรักษาโรคกระดูกพรุนนั้น ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่เเน่ชัด เป็นเพียงการชะลอการเสื่อมหรือสูญเสียของมวลกระดูก ด้วยวิธีการใช้ยา เช่น เเคลเซียม วิตามินดี และยาลดการทำลายกระดูก ซึ่งยาลดการทำลายกระดูกเป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรหาซื้อยารับประทานเอง นอกจากนั้นยังมีการให้ฮอร์โมนทดแทน รวมไปถึงการระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือการหกล้มที่อาจจะมีโอกาสทำให้กระดูกหักได้

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก NNC สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์          

แชร์บทความนี้