วิธีการจัดบริเวณบ้านสำหรับผู้สูงอายุ

930
วิธีการจัดบริเวณบ้านสำหรับผู้สูงอายุ

วิธีการจัดบริเวณบ้านสำหรับผู้สูงอายุ

เปิดรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี 2565  ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หลังจากเมื่อสามปีก่อนนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี  โดยประชากรผู้สูงอายุในปี 2565 นั้นมีมากถึง 12,116,199 คน คิดเป็น 18.3% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 0.5% ดังนั้น ‘บ้านสำหรับผู้สูงอายุ’ จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญ และผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่เราต้องดูแลเป็นพิเศษมากกว่าคนอื่นๆ ทั้งสุขภาพร่างกายและสภาวะจิตใจ ซึ่งการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวต้องอาศัยการจัดบ้านเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข สำหรับบทความนี้ DECORA CARE  ได้รวม 9 วิธีการจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุมาฝากกันค่ะ

1.พื้นบ้าน

    พื้นบ้านถือเป็นสิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจ เพราะบ่อยครั้งที่พบผู้สูงอายุลื่นล้ม หากพื้นบ้านมีลักษณะมันวาว ดังนั้นเราควรเลือกปูพื้นบ้านที่มีผิวสัมผัสกันลื่น หรือผิวหยาบ ปัจจุบันมีน้ำยาฉีดพื้นเพื่อกันความมันวาวของกระเบื้อง หรือถ้าต้องการปูพรม ก็ต้องเก็บขอบพรมให้สนิท เพื่อป้องกันผู้สูงอายุสะดุดและหกล้มได้

2. ประตู

ประตูบ้านหรือประตูอื่นๆ ในบ้านต้องมีความกว้างกว่าปกติ เพราะจะช่วยให้ผู้สูงอายุเดินผ่านได้อย่างสะดวก โดยประตูบ้านปกติแล้วจะมีความกว้างอยู่ที่ 70 เซนติเมตร เราจึงควรเพิ่มขนาดความกว้างของประตูเป็น 90 เซนติเมตร และที่สำคัญควรเปลี่ยนเป็นประตูบานเลื่อนจะสะดวกต่อการเปิดปิดของผู้สูงอายุมากกว่าประตูบานพับ

3. ติดตั้งราวมือจับติดผนัง

การติดตั้งราวมือจับติดผนังนั้นควรมีความสูงประมาณ 80-90 เซนติเมตร จากระดับพื้น และควรติดตั้งตามบันได ทางเดินต่าง ๆ เข้าไปจนถึงในห้องน้ำ หรือบริเวณห้องที่ผู้สูงอายุเข้าไปเป็นประจำ โดยวัสดุที่เลือกใช้ไม่ควรไม่เป็นชนิดที่ลื่นหรือมันวาว เพราะป้องกันการจับแล้วลื่นหลุดมือของผู้สูงอายุได้

4. โต๊ะสำหรับผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น

สำหรับครอบครัวที่มีผู้สูงอายุที่มีใช้รถเข็น ควรเตรียมโต๊ะและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เอื้ออำนวยต่อการใช้งานของผู้ใช้งานที่อยู่บนรถเข็น โดยความสูงของโต๊ะต้องมีระดับต่ำกว่าความสูงของโต๊ะปกติ มีความสูงหน้าโต๊ะอยู่ที่ 75  เซนติเมตร และความสูงใต้โต๊ะ 60 เซนติเมตร โดยไม่ควรมีลิ้นชักหรือช่องอื่นๆ ใต้โต๊ะนั้น เพื่อความสะดวกในการใช้งาน

5. แสงสว่างภายในบ้าน

แสงสว่างภายในบ้านควรมีความสม่ำเสมอ เนื่องจากผู้สูงอายุมีสายตาที่ตอบรับกับแสงสว่างช้ากว่าปกติ เวลาที่อยู่ในที่สว่างแล้วต้องเดินไปที่มืดจึงเป็นเรื่องที่ลำบากของผู้สูงอายุ ดังนั้นระหว่างห้องนอน ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่นต้องมีความสว่างของไฟที่สม่ำเสมอกัน เพื่อลดโอกาสหกล้มจากการก้าวพลาด

6. ติดตั้งปลั๊กไฟ

ควรติดตั้งปลั๊กไฟให้มีความสูงพอดีกับการที่ผู้สูงอายุสามารถเอื้อมถึงได้โดยที่ไม่ต้องก้มหรือต้องลุกขึ้นยืนทุกครั้งที่ต้องการใช้งาน และสวิตช์ไฟควรมีขนาดใหญ่กว่าปกติเพื่อการหยิบจับที่สะดวก ตัวสวิตช์ควรเป็นสีขาวหรือเรืองแสงในที่มืดได้เพื่ออำนวยความสะดวกการมองเห็นที่ง่ายขึ้น

7. หลีกเลี่ยงการมีพื้นต่างระดับ

การมีพื้นต่างระดับในบ้านนั้นจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุกับผู้สูงอายุได้เป็นอย่างมาก ถ้าบริเวณไหนในบ้านต้องมีพื้นที่ต่างระดับจริง ๆ ควรมีพื้นทางลาดควบคู่กับพื้นต่างระดับเพื่อง่ายต่อการเดินหรือการใช้รถเข็นของผู้สูงอายุ หรือควรมีราวมือจับติดผนังเพื่อช่วยป้องกกันการลื่นล้ม

8. มีที่พักแขนสำหรับเก้าอี้ทุกตัว

การมีที่พักแขนให้กับเก้าอี้ทุกตัวจะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถพยุงตัวจากการลุกนั่งได้ ทำให้ปลอดภัยและยังเพิ่มความสะดวกสบายเวลานั่งอีกด้วย

9. ติดตั้งเครื่องเตือนฉุกเฉิน

หากเป็นไปได้ ควรติดเครื่องขอความช่วยเหลือฉุกเฉินไว้ในจุดต่างๆ ของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น โดยเครื่องขอความช่วยเหลือฉุกเฉินที่แนะนำ ควรเป็นระบบที่ติดตั้งง่ายและครอบคลุมพื้นที่เสียงรอบตัวบ้าน เพื่อช่วยลดโอกาสการช่วยเหลือผู้สูงอายุไม่ทันเวลาเมื่อที่เกิดอุบัติเหตุ

จะเห็นได้ว่าการจัดบ้านสำหรับผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะบ้านควรเป็นพื้นที่ที่ต้องปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุมากที่สุด

แชร์บทความนี้