วิธีจัดห้องที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ

1021
วิธีจัดห้องที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ

วิธีจัดห้องที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ

บ้านสำหรับผู้สูงอายุ จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญ และผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่เราต้องดูแลเป็นพิเศษมากกว่าคนอื่นๆ ทั้งสุขภาพร่างกายและสภาวะจิตใจ ซึ่งการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวต้องอาศัยการจัดบ้านเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถอาศัย อยู่ได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข วันนี้ DECORA CARE มีวิธีจัดห้องที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุของกรมกิจการผู้สูงอายุมาฝากกันค่ะ

ห้องนอน

ห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุควรมีช่องเปิดบานใหญ่เพื่อรับแสงธรรมชาติ ให้อากาศถ่ายเท และมีพื้นที่อย่างน้อย 16-20 ตารางเมตรสำหรับทำกิจกรรม งานอดิเรกตามความชอบ นอกจากนั้นยังควรเผื่อพื้นที่สำหรับวีลแชร์ โดยต้องมีระยะหมุน 1.5 เมตรด้วย ส่วนเตียงนอนควรมีขนาดไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร สูง 40 เซนติเมตร (ประมานหัวเข่า) และมีพื้นที่รอบๆ เตียง บริเวณหัวเตียงควรติดตั้งปุ่มฉุกเฉินหรือโทรศัพท์เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุด้วย ที่สำคัญที่สุดควรจัดห้องนอนไว้ที่ชั้นล่างของบ้าน พร้อมมีห้องน้ำในตัวหรืออยู่ใกล้ห้องนอนผู้สูงอายุมากที่สุด เพื่อการใช้งานอันสะดวกสบาย

ห้องน้ำ

ข้อสำคัญอย่างแรกคือต้องเป็นพื้นกระเบื้องควรเป็นพื้นผิวหยาบ ไม่ควรติดตั้งแบบกระเบื้องผิวมัน และควรติดตั้งราวมือจับกันลื่น ไว้ตามจุดที่ต้องระมัดระวัง เช่นบริเวณอ่างล้างหน้า ใกล้จุดอาบน้ำ สุขภัณฑ์ควรติดที่มีส่วนโค้งเว้าด้านหน้า ใต้อ่างล้างหน้าควรปล่อยโล่งให้รถเข็นเข้าได้ ก๊อกน้ำควรเลือกแบบก้านโยกปัดข้างจะได้ไม่ต้องออกแรงมากและใช้ตะแกรงกั้นพื้นที่ส่วนเปียก ส่วนแห้ง หรือใช้ลายกระเบื้องต่างกันแทนการใช้เสต็ป

ห้องนั่งเล่น

ห้องสำหรับการพักผ่อนของคนในครอบครัว ดังนั้นจึงควรสร้างบรรยากาศให้มีความผ่อนคลาย สบายๆ มีพื้นที่โล่ง กว้าง และไม่อึดอัด สำหรับผู้ใช้งานสูงอายุควรจัดเฟอร์นิเจอร์ให้เป็นระเบียบ ใช้เฟอร์นิเจอร์ลบมุม ไม่ควรปูพรมเพราะจะทำให้สะดุดล้มได้ง่าย ควรใช้หน้าต่างบานใหญ่ สูงจากพื้นประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อให้ผู้ที่ใช้วีลแชร์สามารถเห็นทิวทัศน์ด้านนอก

ห้องพระ

ควรอยู่ในตำแหน่งที่มีการถ่ายเทอากาศที่ดี เพราะในบางครั้งหากต้องจุดธูป เทียน จะลดอันตรายจากควันไฟและเปลวเทียนไม่ให้ไหม้บ้านได้

ข้อควรระวังเพิ่มเติม

1.บันไดควรมีราวจับที่มั่นคง ใช้วัสดุปูพื้นที่ไม่ลื่น และอาจทำสีที่จมูกบันได เพื่อให้เห็นขั้นบันไดชัดเจน

2.แสงสว่าง ระบบแสงสว่างภายในบ้านต้องมีอย่างเพียงพอ เพื่อการมองเห็นที่ชัดเจน ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ

3.สวิตซ์ไฟ อยู่ในตำแหน่งที่ผู้สูงอายุใช้งานสะดวก เปิด-ปิดง่าย

4.ประตู ไม่ควรมีธรณีประตูเพราะจะทำให้สะดุดล้ม ใช้ประตูแบบบานเลื่อนหรือเปิดออกเพื่อความสะดวก และควรมีความกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร เพื่อให้รถเข็นเข้าออกได้สะดวก

5.เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หลอดไฟ สายไฟ และการเดินสายไฟต้องเก็บให้เรียบร้อย ไม่ควรอยู่ตามทางเดิน ควรติดตั้งเครื่องตัดไฟเพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรด้วย

6.ปุ่มฉุกเฉิน เป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะในกรณีที่ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวหรือคลาดสายตาจากคนดูแลในบ้าน เมื่อเกิดอุบัติเหตุก็จะมาช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ซึ่งควรติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ที่มักจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ห้องน้ำ หัวเตียง หรือที่ที่ผู้สูงอายุใช้ประจำ เป็นต้น

แชร์บทความนี้