โรคข้อเข่าเสื่อม

1478
โรคข้อเข่าเสื่อม

รู้หรือไม่  “โรคข้อเข่าเสื่อม” ไม่ต้องรอแก่ก็เป็นได้ หลายคนเข้าใจว่า จะเป็นโรคนี้ก็ต่อเมื่อเป็นผู้สูงอายุ แต่ในความเป็นจริงแล้ว “โรคข้อเข่าเสื่อม” เป็นภัยเงียบที่แอบแฝงอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน หากใช้ข้อเข่าอย่างไม่ระมัดระวัง และไม่ดูแล ก็อาจจะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน วันนี้ เดคอร่า แคร์ มีบทความดีๆจาก โรงพยาบาลบางปะกอก1 มาแนะนำค่ะ

ต้นเหตุ “เข่าเสื่อม” 

ข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการเสื่อมสภาพของผิวข้อตามกาลเวลา เกิดจากกระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายจากการเปลี่ยนแปลงภายในข้อ และร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมกระดูกอ่อนผิวข้อได้ทันกับการที่ถูกทำลายไป  เมื่อกระดูกอ่อนผิวข้อมีเลือดมาเลี้ยงน้อย ส่งผลให้เซลล์กระดูกอ่อนได้รับสารอาหาร และออกซิเจนไม่เพียงพอ ไม่สามารถสังเคราะห์สารต่างๆที่จำเป็นไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ ส่งผลให้ข้อที่เสื่อมไม่สามารถรับน้ำหนักได้ ทำให้มีอาการเจ็บปวดในการใช้ชีวิตประจำวัด โดยไม่ได้เป็นเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น เพราะสาเหตุของการเสื่อมของข้อเข่ามีหลายสาเหตุด้วยกัน ดังนี้

1. อายุ 

มักไปเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้น และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นโรคนี้ถึง 40%

2. เพศ 

เพศหญิงมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า

3. น้ำหนัก 

น้ำหนักตัวที่มากเกินไป น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มแรงกระทำกับข้อเข่ามากขึ้นด้วย รวมทั้งเซลล์ไขมันที่มีมากเกินไปจะส่งผลทำให้เซลล์กระดูกอ่อน และเซลล์กระดูกเสื่อมเร็วขึ้น

4. การใช้งานเข่า

การทำกิจกรรม หรือกิจวัตรประจำวันที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามากยิ่งเพิ่มความเสี่ยง เช่น การวิ่งมาราธอน การเดินขึ้น-ลงบันได 

5 .อุบัติเหตุ

หรือการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ บริเวณข้อ หรือเส้นเอ็น หรือการบาดเจ็บเรื้อรังจากการออกกำลังกาย

6. โรคประจำตัวที่มีผลกับข้อเข่า

เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกาต์ 

เช็คอาการ “ข้อเข่าเสื่อม”

คุณอาจกำลังมีความเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม หากมีอาการเหล่านี้มากกว่า 3 ข้อ

1.ปวดเข่า บริเวณข้อ ปวดเรื้อรัง ปวดมากขึ้นเมื่อมีการใช้งาน และทุเลาลงเมื่อพักการใช้งาน

2.มีเสียงในข้อเข่า เมื่อขยับเคลื่อนไหว

3.ข้อเข่าตึง ฝืด เมื่อพักการใช้งานข้อเข่าเป็นเวลานาน

4.ปวดเสียวที่ข้อเข่าเมื่อขึ้น-ลงบันได

 “โรคข้อเข่าเสือม” ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาแบบควบคุมอาการปวดได้ และทำให้ข้อเข่าสามารถกลับมาใช้งานได้ปกติ หรือเหมือนเดิมให้มากที่สุด และป้องกันการผิดรูปของข้อเข่าอีกด้วย ทั้งนี้การรักษานั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยของผู้ป่วยที่แตกต่างกัน

โดยแบ่งการรักษาออกเป็น 2 แบบด้วยกัน คือ

1.รักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด

โดยการออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เพื่อลดแรงกระทำต่อข้อ ใช้เครื่องช่วยเดิน เพื่อผ่อนการลงน้ำหนัก ลดแรงกระทำต่อข้อ เช่น ไม้ค้ำ ไม้เท้า ราวมือจับ หากปวดเข่าควรมีการประคบร้อนเมื่อมีอาการปวดในช่วง 48 ชั่วโมงแรก และประคบเย็นช่วง 48 ชั่วโมงหลังมีอาการปวด หรือการรักษาด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ การกระตุ้นไฟฟ้าผ่านผิว การเลเซอร์ หรือฝังเข็ม เป็นต้น

ส่วนการใช้ยากลุ่มต่างๆ ที่รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม อย่างเช่น พาราเซตามอล บรรเทาอาการปวดในเบื้องต้น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ การฉีดน้ำเลี้ยงไขข้อ ช่วยลดอาการปวด และช่วยการเคลื่อนไหวให้ดีขึ้น

2.การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม

เป็นการรักษาเมื่อมีข้อบ่งชี้ในกรณีข้อเข่าเสื่อมอย่างรุนแรง ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ หรือมีอาการผิดรูปของข้อมาก ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิผลมาก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลบางปะกอก1

แชร์บทความนี้